1.1 บทบาทความสำคัญของเทคโนโลยีสารสนเทศ แนวคิด การทำงาน ตลอดถึงการดำเนินชีวิตของผู้คนในสังคม ต่างก็ได้รับอิทธิพลอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีมากบ้างน้อยบ้าง ต่างระดับกันไป บางครั้งเราก็ซึมซับและรับเอาเทคโนโลยีบางอย่างเข้ามาอย่างเป็นธรรมชาติที่สุด เช่น การโทรศัพท์ทางไกลจากชนบทที่ห่างไกล อาจเกิดขึ้นได้โดยระบบสื่อสารผ่านดาวเทียม ซึ่งทำให้ทั้งผู้พูดและผู้ฟังต่างก็ได้รับข้อมูลข่าวสารถึงกัน หรือถ้าเป็นการทำงาน การแข่งขันทางธุรกิจที่จะประสบความสำเร็จในยุคนี้นั้นจะต้องอาศัยทั้งความถูกต้องแม่นยำ ความรวดเร็วในการตัดสินใจ การจะทำสิ่งเหล่านี้ได้ดีต้องอาศัยข้อมูลข่าวสารที่จะทำให้เราสามารถตัดสินใจได้ และวิธีหนึ่งที่จะทำให้ได้มาซึ่งข้อมูลข่าวสารเหล่านี้ ก็ด้วยการที่เรานำเอาเทคโนโลยีด้านคอมพิวเตอร์ และการติดต่อสื่อสารผ่านเครือข่ายคอมพิวเตอร์เข้ามาช่วย คอมพิวเตอร์เข้ามาสู่ชีวิตประจำวันของเรามากขึ้น ไม่ว่าเราจะอยากรู้จักโดยตรงหรือไม่ก็ตาม เช่น เมื่อเราไปฝากหรือถอนเงินจากธนาคารทุกแห่งในขณะนี้ล้วนแล้วแต่ต้องผ่านระบบคอมพิวเตอร์ทั้งสิ้น การซื้อสินค้า หรือชำระเงินค่าบริการต่าง ๆ จากร้านสะดวกซื้อใกล้บ้าน เช่น เซเว่นอีเลเว่น เอเอ็มพีเอ็ม หรือแม้แต่ร้านค้าในปั๊มน้ำมัน เราลองคิดต่อไปว่าจะมีการนำคอมพิวเตอร์เข้ามาใช้ส่วนตัวในบ้านมากขึ้นหรือไม่ คำตอบก็คือ น่าที่จะเป็นไปได้ และเราน่าจะมองต่อไปอีกว่า แล้วเราควรที่จะเป็นผู้บริโภคที่นำเข้าเทคโนโลยีเหล่านี้ตลอดไปหรือไม่ ถ้าคำตอบคือใช่ เราก็ไม่ต้องเรียนรู้สิ่งใดมากนัก นอกจากการเรียนรู้การใช้งานคอมพิวเเตอร์ให้ได้ตามที่เราต้องการ แต่ถ้าเราคิดอย่างสมเหตุสมผลและยุติธรรมต่อประเทศของเรา เราก็น่าที่จะเริ่มเรียนรู้อย่างมีระบบจากง่าย และนำพาตัวเราไปสู่การเรียนรู้ที่เข้าใจเทคโนโลยีอย่างมีการค้นคิดที่มากขึ้นต่อไปในอนาคต เพื่อที่เราจะได้ก้าวไปเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกเทคโนโลยีได้ต่อไป เทคโนโลยีทำให้มนุษย์ได้รับความสะดวก สบาย และประสบความสำเร็จในงานด้านต่าง ๆ เช่น เทคโนโลยีทางด้านอวกาศ การผลิตและบรรจุหีบห่อ เทคโนโลยีการแพทย์ เทคโนโลยีการกีฬาและพาณิชยกรรม เป็นต้น แม้แต่การเรียนของเราในยุคใหม่นี้ก็เช่นกัน เราจะเห็นได้ว่า ก็ถูกผลักดันให้มีการใช้คอมพิวเตอร์มากขึ้น มีการใช้ข้อมูล ความรู้ จากแหล่งข้อมูลที่เปลี่ยนไป มีการสื่อสารผ่านคอมพิวเตอร์มากขึ้น และการเปลี่ยนแปลงในยุคใหม่นี้ก็ยิ่งทวีความรวดเร็วยิ่งกว่ายุคที่ผ่านมาเสียอีก จึงเป็นการยากที่เราจะหลีกเลี่ยงไม่สนใจเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นในยุคนี้เอาเสียเลย ใน บางครั้งเราก็เรียกยุคเทคโนโลยีนี้ว่า "ยุคดิจิตอล (The Digital Age)" หรือ "ยุคข้อมูลข่าวสารหรือสารสนเทศ (The Information Age)" |
รูปที่ 1.1 การเรียนรู้ในยุคเทคโนโลยีสารสนเทศ
การปฏิวัติอุตสาหกรรมยุคแรก เริ่มจากการใช้เครื่องจักรกลแทนการทำงานด้วยมือ พลังงานที่ขับเคลื่อนเครื่องจักรก็มาจากพลังงานน้ำ พลังงานไอน้ำ และเปลี่ยนมาเป็นพลังงานจากน้ำมันขับเคลื่อนเครื่องยนต์ และมอเตอร์ไฟฟ้า ต่อมาการปฏิวัติอุตสาหกรรมได้เกิดขึ้นอีก โดยเปลี่ยนแปลงระบบการทำงานทีละขั้นตอน มาเป็นการทำงานระบบอัตโนมัติ ซึ่งส่วนใหญ่ใช้กลไกการควบคุมการทำงานแบบอัตโนมัติ เช่น การดำเนินงานผลิต การตรวจสอบ การควบคุม ฯลฯ การทำงานเหล่านี้อาศัยระบบการควบคุมด้วยคอมพิวเตอร์ การพัฒนาต่อไปในอนาคต ยากที่จะคาดเดาได้ว่า จะมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์อะไรใหม่ขึ้นมาอีกบ้าง ทั้งนี้เพราะ ขีดความสามารถของคอมพิวเตอร์ในปัจจุบันสูงมาก โดยเฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับไมโครคอมพิวเตอร์ มีผู้กล่าวว่าการปฏิวัติครั้งที่สามกำลังจะเกิดขึ้น โดยสิ่งที่เกิดใหม่นี้ ได้แก่ การพัฒนาการทางด้านความคิด การตัดสินใจ โดยอาศัยหลักการของคอมพิวเตอร์ |
รูปที่ 1.2 การใช้เครื่องจักรควบคุมงาน
ในอนาคตอันใกล้คนเพียงคนเดียวอาจทำงานทั้งหมด โดยอาศัยระบบคอมพิวเตอร์ควบคุมหุ่นยนต์ และหุ่นยนต์ควบคุมการทำงานของเครื่องจักรอีกต่อหนึ่ง เมื่อค่าจ้างแรงงานสูงขึ้นและการแข่งขันทางธุรกิจมีมากขึ้น โรงงานจึงตกอยู่ในสภาวะจำยอมที่จะเอาเครื่องมือเหล่านั้นเข้ามาช่วย เนื่องจากเครื่องมือดังกล่าว ให้ผลผลิตที่ดีกว่าของเดิม และมีราคาต้นทุนต่ำลงอีกด้วย ความเจริญก้าวหน้าทางอุตสาหกรรมเกือบทุกแขนง มีคอมพิวเตอร์เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยเสมอ ระบบการผลิตส่วนใหญ่ต้องใช้คอมพิวเตอร์ และอิเล็กทรอนิกส์แทรกเข้ามาเกือบทุกกระบวนการ ตั้งแต่การควบคุม การขนส่งวัตถุดิบ กระบวนการผลิต การควบคุมคุณภาพ การวัดและการบรรจุหีบห่อ ตลอดถึงการใช้เครื่องทุ่นแรงบางอย่าง เครื่องมือที่ใช้วัดเกือบทุกประเภทมักมีไมโครโพรเซสเซอร์ (microprocessor) ซึ่งเป็นอุปกรณ์ส่วนหนึ่งของคอมพิวเตอร์เกี่ยวข้องด้วยเสมอ เช่น การวัดอุณหภูมิ วัดความดัน วัดความเร็วการไหล วัดระดับของเหลว วัดปริมาณค่าที่จำเป็นสำหรับการควบคุมคุณภาพ ในยุควิกฤตการณ์พลังงาน หลายประเทศพยายามลดการใช้พลังงาน โรงงานพยายามหาทางควบคุมพลังงาน ให้มีประสิทธิภาพสูงสุดเพื่อจะลดค่าใช้จ่ายลง จึงนำเอาคอมพิวเตอร์มาช่วยควบคุม เช่น ควบคุมการเดินเครื่องให้เหมาะสม ควบคุมปริมาณการใช้พลังงาน ควบคุมการจัดภาระงาน รวมถึงการควบคุมสิ่งแวดล้อมด้วย |
รูปที่ 1.3 การใช้เครื่องจักรควบคุมงานในเมืองอุสาหกรรม
คำถาม มีความจำเป็นเพียงไรที่จะต้องให้เยาวชนไทยได้เรียนรู้คอมพิวเตอร์ ? |
1.2 พัฒนาการของเทคโนโลยีสารสนเทศ เทคโนโลยีสารสนเทศกำลังเข้ามามีบทบาทต่อชีวิตประจำวัน สังเกตได้จากการนำคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลมาใช้ในสำนักงาน การจัดทำระบบฐานข้อมูลขนาดใหญ่ การใช้อุปกรณ์อำนวยความสะดวกที่ประกอบด้วยชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ แสดงว่า เทคโนโลยีสารสนเทศและคอมพิวเตอร์ เพื่อการคำนวณและเก็บข้อมูลได้แพร่ไปทั่วทุกแห่ง เทคโนโลยีสารสนเทศมีบทบาทสำคัญต่อการแข่งขันด้านธุรกิจ และการขยายตัวของบริษัท มีผลต่อการให้บริการขององค์การและหน่วยงาน และมีผลต่อการประกอบกิจในแต่ละวัน ก่อนการปฏิวัติทางอุตสาหกรรม ประชากรโลกส่วนใหญ่จะยึดอาชีพเกษตรกรรมเป็นแกนหลัก มีเพียงบางส่วนยึดอาชีพบริการและทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม แต่เมื่อมีการปฏิวัติอุตสาหกรรม พลเมืองในชนบทเป็นจำนวนมากละทิ้งถิ่นฐานเดิมมาทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม ทำให้เกิดการขยายตัวของประชากรในภาคอุตสาหกรรมและการลดน้อยลงในภาคเกษตรกรรม ขณะที่ผู้ทำงานด้านบริการจะค่อย ๆ ขยับสูงขึ้นพร้อม ๆ กับการมีผู้ทำงานด้านสารสนเทศที่ค่อย ๆ เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เทคโนโลยีสารสนเทศเริ่มเข้ามามีบทบาทเมื่อราว พ.ศ. 2500 แต่ยังไม่แพร่หลายนัก จะมีเพียงการใช้โทรศัพท์เพื่อการติดต่อสื่อสาร และเริ่มมีการนำคอมพิวเตอร์มาช่วยประมวลผลข้อมูลงานด้านสารสนเทศอื่น ๆ ส่วนใหญ่ยังคงเป็นงานภายในสำนักงานที่ยังมีอุปกรณ์ และเครื่องมือด้านเทคโนโลยีมาช่วยงานไม่มากนัก เมื่อมีการประดิษฐ์คิดค้นอุปกรณ์ช่วยงานสารสนเทศมากขึ้น เช่น เครื่องถ่ายสำเนาเอกสาร เครื่องพิมพ์ดีดไฟฟ้า เครื่องโทรสาร และเครื่องไมโครคอมพิวเตอร์ อาชีพของประชากรก็ปรับเปลี่ยนมาสู่งานด้านสารสนเทศมากขึ้น มีแนวโน้มขยายตัวที่ค่อนข้างรวดเร็ว เทคโนโลยีด้านนี้ได้รับการส่งเสริมสนับสนุนอย่างเต็มที่ด้วยการพัฒนาค้นคว้าวิจัย ให้เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ ออกมาตอบสนองความต้องการของมนุษย์อยู่ตลอดเวลา สำนักงานจะเป็นแหล่งที่มีการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศมากที่สุด เช่น การใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ทำบัญชีเงินเดือนและบัญชีรายรับรายจ่าย การติดต่อสื่อสารภายในและภายนอกหน่วยงาน การจัดเตรียมเอกสารด้วยการใช้เครื่องพิมพ์ดีด เครื่องถ่ายสำเนา และเครื่องคอมพิวเตอร์ เป็นต้น |
รูปที่ 1.4 การใช้คอมพิวเตอร์ทำงานในสำนักงาน |
นอกจากนี้ระบบเทคโนโลยีแบบสื่อประสม (multimedia) เป็นเทคโนโลยีรวมข้อความ จำนวน ภาพ สัญลักษณ์ และเสียงเข้ามาผสมกัน ที่กำลังได้รับความสนใจอย่างมากในขณะนี้ และกำลังได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จะช่วยเสริมและสนับสนุนงานด้านสารสนเทศให้มีคุณภาพมากขึ้น แนวโน้มของเทคโนโลยีสารสนเทศจะค่อย ๆ กลายมาเป็นระบบรวม โดยให้เครื่อคอมพิวเตอร์ระบบหนึ่งทำงานพร้อมกันได้หลาย ๆ อย่าง เช่น นอกจากใช้ประมวลผลข้อมูลด้านบัญชีแล้ว ยังใช้งานจัดเตรียมเอกสารแทนเครื่องพิมพ์ดีด ใช้รับส่งข้อความหรือจดหมายกับเครื่องคอมพิวเตอร์ที่อยู่ห่างไกล ซึ่งอาจอยู่คนละซีกโลกในลักษณะที่เรียกว่า ไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ สำหรับเครื่องถ่ายเอกสาร นอกจากจะใช้ถ่ายสำเนาเอกสารตามปกติแล้ว อาจเพิ่มขีดความสามารถให้ใช้งานเป็นเครื่องพิมพ์คอมพิวเตอร์ หรือเป็นเครื่องรับส่งโทรสารไปในตัว พัฒนาการทางเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นไปอย่างรวดเร็ว ทั้งด้านฮาร์ดแวร์ (hardware) ซอฟต์แวร์ (software) ด้านข้อมูล และการติดต่อสื่อสาร ผู้ใช้จึงต้องปรับตัวยอมรับและเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ที่เกิดขึ้นอยู่เสมอ โดยเฉพาะข้อมูลและการติดต่อสื่อสารซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการดำเนินธุรกิจจำนวนมาก หากการดำเนินงานธุรกิจใช้ข้อมูลซื่งมีการบันทึกใส่กระดาษและเก็บรวบรวมใส่แฟ้ม การเรียกค้นและสรุปผลข้อมูลย่อมทำได้ช้า และเกิดความผิดพลาดได้ง่ายกว่าการประมวลผลข้อมูลด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ เทคโนโลยีสมัยใหม่จะช่วยงานให้ง่ายสะดวกและรวดเร็วขึ้น และที่สำคัญช่วยให้สามารถตัดสินใจดำเนินงานได้เร็ว และถูกต้องดีขึ้น คำถาม เทคโนโลยสารสนเทศมีจุดเริ่มต้นและมีพัฒนาการอย่างไร ? |
|
1.3 ขอบเขตของเทคโนโลยีสารสนเทศ ข้อมูล (Data) หมายถึง ข้อเท็จจริงหรือความจริงของคน สัตว์ สิ่งของ ทั้งที่เป็นรูปธรรมและนามธรรมที่มีการเก็บรวบรวมไว้ และมีความหมายในตัวเอง ข้อมูลสำหรับคอมพิวเตอร์ก็เช่นกัน ถ้าเราจะนำข้อมูลที่ยังไม่ผ่านกระบวนการใด ๆ มาใช้ เราก็อาจไม่สามารถใช้ข้อมูลเหล่านั้นให้เกิดประโยชน์ได้เลย หรือไม่สามารถใช้ได้มากนัก ตัวอย่างข้อมูลทางธุรกิจ เช่น ชนิดของสินค้า จำนวนผู้ขาย จำนวนที่ขาย ข้อมูลเหล่านี้ถ้าไม่มีการเก็บรวบรวม เช่น จำนวน 100 200 300 ถ้ากล่าวอ้างมาเฉย ๆ เราก็จะทราบแต่เพียงว่าเป็นตัวเลข 100 200 300 แต่เราคงไม่เข้าใจว่าเราตัวเลขเหล่านั้นมีความหมายอย่างไร และก็จะไม่มีประโยชน์ต่อการนำไปใช้ แต่ถ้าเรานำข้อมูลเหล่านี้มาเก็บรวบรวมโดยกำหนดว่าข้อมูล 100 200 300 หมายถึง จำนวนสินค้าที่ขายได้ และเมื่อนำมาผ่านกระบวนการ (Process) เช่นการนำข้อมูลเหล่านี้มาคำนวณยอดรวม เราก็จะได้ว่าจำนวนสินค้าที่ขายทั้งหมด คือ 600 หน่วย เราเรียกข้อมูลที่นำมาผ่านกระบวนการหรือขั้นตอนเหล่านี้ว่า สารสนเทศ (Information) ซึ่งการใช้สารสนเทศให้เกิดประโยชน์อาจมีความแตกต่างกัน เช่นการใช้สารสนเทศในระบบในธุรกิจสำหรับผู้บริหารระดับสูง คงต้องการเพียงรายงานสรุปเพื่อนำไปตัดสินใจในการวางแผนในการทำงานต่อไป เช่น ขณะนี้เหลือสินค้าอยู่เท่าไร ควรที่จะผลิตเพิ่มหรือไม่ แต่ถ้าเป็นผู้ปฎิบัติงานคงต้องการรายงานที่มีความละเอียดเพื่อตรวจเช็คความถูกต้องของงานที่ทำอยู่ เช่นผู้ขายแต่ละคน ขายสินค้าอะไรบ้าง จำนวนเท่าไร เป็นต้น สารสนเทศ (Information) หมายถึง การนำข้อมูลที่เก็บรวบรวมไว้ มาผ่านกระบวนการ (Process) เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่มีประโยชน์ต่อการตัดสินใจ มีการจัดเก็บ รวบรวม เรียกค้น และสื่อสารระหว่างกัน นำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ เทคโนโลยี มีความหมายมาจากคำ 2 คำคือ "Technique" ซึ่งหมายถึง วิธีการที่มีการพัฒนาและสามารถนำไปใช้ได้ และคำว่า "Logic" ซึ่งหมายถึง ความมีเหตุผลที่เป็นที่ยอมรับ รวมกันแล้ว จึงหมายถึง วิธีการปฏิบัติที่มีการจัดลำดับอย่างมีรูปแบบ และขั้นตอน เพื่อที่จะทำให้เกิดประสิทธิภาพในเรื่องความเร็ว หรืออาจกล่าวได้ว่า เทคโนโลยี หมายถึง การประยุกต์เอาความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ ความจริงเกี่ยวกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มาทำให้เกิดประโยชน์ต่อมวลมนุษย์ เทคโนโลยีจึงเป็นวิธีการในการสร้างมูลค่าเพิ่มของสิ่งต่างๆ ให้เกิดประโยชน์มากยิ่งขึ้น เช่น ทรายหรือซิลิกอนเป็นสารแร่ที่พบเห็นทั่วไปตามชายหาด หากนำมาสกัดด้วยเทคโนโลยีและใช้เทคนิควิธีการสร้างเป็นชิป (chip) สำหรับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ จะทำให้สารแร่ซิลิกอนนั้นมีคุณค่าและมูลค่าเพิ่มขึ้นได้อีกมาก รูปที่ 1.5 ชิป (chip) สำหรับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์ หมายถึง อุปกรณ์อิเล็คทรอนิคที่สามารถทำการกำหนดชุดคำสั่ง (Programmable) ในการนำข้อมูลเข้ามาทำการประมวลผล ให้เกิดเป็นสารสนเทศที่เกิดประโยชน์ และนำสารสนเทศเหล่านั้นเก็บและนำมาใช้ต่อไปได้ โดยสารสนเทศหรือชุดคำสั่งเหล่านี้จะใช้พื้นฐานการทำงานแบบดิจิตอลที่เป็นสัญญาณของ 2 สถานะ (Binary Signals) คือ เปิดและปิด ซึ่งต่างจากสัญญาณอนาลอกที่เราพบเห็นอยู่ เช่น สัญญาณเสียง สัญญาณภาพ เป็นต้น เทคโนโลยีสารสนเทศ (Infornation Technology : IT) หมายถึง การนำเทคโนโลยีมาใช้สร้างมูลค่าเพิ่ม ให้กับสารสนเทศ ทำให้สารสนเทศมีประโยชน์ และใช้งานได้กว้างขวางมากขึ้น รวมไปถึงการใช้เทคโนโลยีด้านต่างๆ ที่จะรวบรวม จัดเก็บ ใช้งาน ส่งต่อหรือสื่อสารระหว่างกัน เทคโนโลยีสารสนเทศเกี่ยวข้องโดยตรง กับเครื่องมือเครื่องใช้ในการจัดการสารสนเทศ ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์รอบข้าง ขั้นตอนวิธีการดำเนินการ ซึ่งเกี่ยวข้องกับซอฟต์แวร์ ข้อมูล บุคลากร และ เกี่ยวข้องกับกรรมวิธีการดำเนินงาน เพื่อให้ข้อมูลเกิดประโยชน์สูงสุด |
รูปที่ 1.6 การใช้้เทคโนโลยีสารสนเทศ |
เทคโนโลยีสารสนเทศจึงเป็นเทคโนโลยีที่ครอบคลุมเรื่องเกี่ยวกับการประมวลผลข้อมูล ซึ่งได้แก่ การใช้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ การติดต่อสื่อสารระหว่างกันด้วยเทคโนโลยี การจัดการข้อมูล รวมถึงวิธีการที่จะใช้ข้อมูลให้เกิดประโยชน์สูงสุด |
|
1.4 ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสารสนเทศ ในสังคมปัจจุบัน หลายสิ่งหลายอย่างที่เกิดขึ้นเป็นตัวชี้บอกว่า ประเทศไทยกำลังก้าวสู่ยุคสารสนเทศ ดังจะเห็นได้จากวงการศึกษาสนใจให้ความรู้ด้านคอมพิวเตอร์ และส่งเสริมการนำเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์มาประยุกต์งานต่างๆ มากขึ้น การบริหารธุรกิจของบริษัทห้างร้านต่างๆ ทั้งในระดับใหญ่และระดับกลาง ตลอดจนหน่วยงานของรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจมีการพัฒนาระบบสารสนเทศ เพื่อใช้ในองค์การด้วยการเก็บข้อมูล ประมวลผลและวิเคราะห์ข้อมูล แล้วนำผลลัพธ์มาช่วยในการวางแผนและตัดสินใจ เริ่มแรกที่มนุษย์ได้คิดค้นประดิษฐ์คอมพิวเตอร์ที่มีลักษณะเป็นเครื่องคำนวณอิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์ได้ถูกใช้ทำงานด้านการคำนวณทางวิทยาศาสตร์เป็นส่วนใหญ่แล้ว จึงนำมาใช้เก็บรวบรวม และประมวลผลข้อมูลทางด้านธุรกิจในเวลาต่อมา ยุคแรกนี้เรียกว่า ยุคการประมวลผลข้อมูล (data processing age) ข้อมูลที่ได้มาควรจะต้องทำการประมวลผลให้ได้เป็นสารสนเทศก่อน จึงจะนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ วิธีการประมวลผลข้อมูลจะเริ่มตั้งแต่การรวบรวมจัดเก็บข้อมูล เมื่อได้ข้อมูลแล้วต้องทำการตรวจสอบความถูกต้อง แบ่งกลุ่มจัดประเภทของข้อมูล เช่น ข้อมูลตัวอักษรซึ่งเป็นชื่อหรือข้อความก็อาจต้องมีการเรียงลำดับ และข้อมูลตัวเลขก็อาจต้องมีการคำนวณ จากนั้นจึงทำสรุปได้เป็นสารสนเทศออกมา ถ้าข้อมูลที่นำมาประมวลผลมีจำนวนมากจนเกินความสามารถของมนุษย์ที่จะทำได้ในเวลาอันสั้น ก็จำเป็นจะต้องนำเครื่องคอมพิวเตอร์มาช่วยเก็บข้อมูล และประมวลผลข้อมูล เมื่อข้อมูลอยู่ภายในคอมพิวเตอร์ การแก้ไขหรือเรียกค้นสามารถทำได้ง่ายและสะดวก ขณะเดียวกันการทำสำเนาและการแจกจ่ายข้อมูล ก็สามารถดำเนินการได้ทันที งานที่เกิดขึ้นจากการประมวลผลข้อมูลมักจะเก็บในลักษณะแฟ้มข้อมูล ตัวอย่างเช่น การทำบัญชีเงินเดือนของพนักงาน ข้อมูลเงินเดือนของพนักงานที่เก็บในคอมพิวเตอร์จะรวมกันเป็นแฟ้มข้อมูล ที่ประกอบด้วย ชื่อพนักงาน เงินเดือนและข้อมูลสำคัญอื่น โปรแกรมคอมพิวเตอร์จะเรียกแฟ้มเงินเดือนมาประมวลผล และสรุปผลรวมยอดขั้นตอนการทำงานจะต้องทำพร้อมกันทีเดียวทั้งแฟ้มข้อมูล ที่เรียกว่า การประมวลผลแบบกลุ่ม (batch processing) แต่เนื่องจากระบบงานที่เกิดขึ้นภายในองค์การค่อนข้างจะซับซ้อน เช่น รายได้ของพนักงานที่ได้รับในแต่ละเดือน อาจไม่ได้มาจากอัตราเงินเดือนประจำเท่านั้น แต่จะมีมาจากค่านายหน้าจากการขายสินค้าด้วย ในลักษณะนี้แฟ้มข้อมูลการขาย จะสัมพันธ์กับแฟ้มข้อมูลเงินเดือน และสัมพันธ์กับแฟ้มข้อมูลอื่น ๆ เช่น ค่าสวัสดิการ การหักเงินเดือนเป็นค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า เป็นต้น ระบบข้อมูลจะกลายมาเป็นระบบที่มีแฟ้มข้อมูลหลายแฟ้มมาเชื่อมสัมพันธ์กัน และโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่จะเรียกแฟ้มข้อมูลเหล่านั้นมาจัดการ ให้เป็นไปตามชิ้นงานที่ต้องการ ก็ยิ่งยากและซับซ้อนมากขึ้น ระบบข้อมูลนี้จะเรียกว่า ระบบฐานข้อมูล (database) การจัดการข้อมูลที่เป็นฐานข้อมูล จะเป็นระบบสารสนเทศที่มีประโยชน์ซึ่งจะนำไปช่วยงานด้านต่าง ๆ อย่างได้ผล ระบบข้อมูลที่สร้างเพื่อใช้ในบริษัทจะเป็นระบบฐานข้อมูลของกิจกรรมที่เกิดขึ้น เพื่อแสดงสารสนเทศที่เป็นจริงของบริษัท สามารถนำข้อเท็จจริงนั้นไปวิเคราะห์ และนำผลลัพธ์ไปประกอบการตัดสินใจของผู้บริหาร เพื่อการวางแผนและกำหนดนโยบายการจัดการต่าง ๆ ในปัจจุบันการนำคอมพิวเตอร์ไปใช้งานของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก จะอยู่ที่การใช้สารสนเทศเป็นส่วนใหญ่ แนวโน้มของระบบจัดการข้อมูลของยุคนี้ จะเริ่มเปลี่ยนจากระบบงานการประมวลผลแบบกลุ่มมาเป็นระบบตอบสนองทันที ที่เรียกว่า การประมวลผลแบบเชื่อมตรง (online processing) ซึ่งเราคงจะได้ยินได้ฟังการโฆษณาประชาสัมพันธ์การฝากถอนเงินของธนาคารต่าง ๆ มาแล้ว ขณะที่ประเทศต่าง ๆ ยังอยู่ในยุคของการประมวลผลสารสนเทศ ประเทศบางประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น ก็ได้พยายามก้าวเดินไปสู่การประมวลฐานความรู้ (knowledge base processing) โดยให้คอมพิวเตอร์ใช้ง่าย รู้จักตอบสนองกับผู้ใช้ และสามารถแก้ปัญหาที่ต้องอาศัยการตัดสินใจระดับสูง ด้วยการเก็บสะสมฐานความรู้ไว้ในคอมพิวเตอร์ และมีโครงสร้างการให้เหตุผล เพื่อนำความรู้มาช่วยแก้ปัญหาที่สลับซับซ้อน ยุคของการประมวลฐานความรู้เป็นการประยุกต์ใช้หลักวิชาด้านปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence : AI) ที่รวบรวมศาสตร์หลายแขนง คือ คอมพิวเตอร์ จิตวิทยา ปรัชญา และภาษาศาตร์เข้าด้วยกัน ตัวอย่างชิ้นงานของยุคนี้ ได้แก่ หุ่นยนต์ และระบบผู้เชี่ยวชาญ (expert system) ปัจจุบันมีซอฟต์แวร์ที่เป็นระบบผู้เชี่ยวชาญมาช่วยในการสำรวจทรัพยากรธรรมชาติ การวินิจฉัยโรคต่าง ๆ และการอนุมัติให้กู้ยืมเงินเพื่อทำโครงการของธนาคาร เป็นต้น 1.5 ประโยชน์ที่ได้จากเทคโนโลยีสารสนเทศ ชีวิตความเป็นอยู่ในปัจจุบันเกี่ยวข้องกับสารสนเทศต่าง ๆ มากมาย การอยู่รวมเป็นสังคมของมนุษย์ทำให้ต้องสื่อสารถึงกัน ต้องติดต่อและทำงานหลายสิ่งหลายอย่างร่วมกัน สมองของเราต้องจดจำสิ่งต่าง ๆ ไว้มากมาย ต้องจดจำรายชื่อผู้ที่เราเกี่ยวข้องด้วย จดจำข้อมูลต่าง ๆ ไว้เพื่อใช้ประโยขน์ในภายหลัง สังคมจึงต้องการความเป็นระบบที่มีรูปแบบชัดเจน เช่น การกำหนดเลขบ้าน ชื่อถนน อำเภอ จังหวัด ทำให้สามารถติดต่อส่งจดหมายถึงกันได้ เลขบ้านเป็นสารสนเทศอย่างหนึ่งที่ใช้งานกันอยู่ เพื่อให้สารสนเทศที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์เป็นระบบมากขึ้น จึงมีการจัดการสารสนเทศเหล่านั้นในลักษณะเชิงระบบ เช่น ระบบทะเบียนราษฎร์ มีการใช้แลขประจำตัวประชาชน ซึ่งเป็นเลขรหัส 13 ตัว แต่ละตัวจะมีควาหมายเพื่อใช้ในการตรวจสอบ เช่น แบ่งตามประเภท ตามถิ่นที่อยู่ การเข้ารับการตรวจรักษาในโรงพยาบาลก็ต้องมีการลงทะเบียน การสร้างเวชระเบียน ระบบเสียภาษีก็มีการสร้างรหัสประจำตัวผู้เสียภาษี นอกจากนี้มีการจดทะเบียนรถยนต์ ทะเบียนการค้า ทะเบียนโรงงาน ฯลฯ การใช้สารสนเทศเกี่ยวข้องกับทุกคน การเรียนรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีสารสนเทศจึงมีความจำเป็น ปัจจุบันเราใช้จ่ายเงินซื้อสินค้าด้วยบัตรเครดิต เบิกเงินด้วยบัตรเอทีเอ็ม การโอนย้ายข้อมูลในลักษณะอิเล็กทรอนิกส์เกี่ยวข้องกับเรามากขึ้น เทคโนโลยีสารสนเทศจึงเป็นเทคโนโลยีแห่งศตวรรษนี้ ที่ใช้ในการจัดเก็บรวบรวมข้อมูล ข้อมูลจำนวนมากได้รับการบันทึกไว้ในรูปแบบที่ให้เครื่องจักรอ่านได้ เช่น อยู่ในแถบบันทึก แผ่นบันทึก แผ่นซีดีรอม ดังจะเห็นเอกสารหรือหนังสือ หรือสารานุกรมบรรจุในแผ่นซีดีรอม หนังสือทั้งตู้อาจเก็บในแผ่นซีดีรอมเพียงแผ่นเดียว |
รูปที่ 1.7 แผ่นซีดีรอม-แผ่นบันทึก
การนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ทางด้านการศึกษา เราจะเห็นได้ว่ารูปแบบการเรียนการสอนในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก เดิมในท้องถิ่นที่ห่างไกลความเจริญ เด็ก ๆ แทบจะไม่มีโอกาสได้รับรู้ข้อมูลข่าวสาร จนกลายเป็นผู้ด้อยโอกาสทางสังคม แต่ในปัจจุบันเริ่มมีระบบการถ่ายทอดสัญญาณผ่านดาวเทียม ทำให้เด็กเหล่านี้ได้รับโอกาสเรียนรู้ ถึงแม้จะยังไม่แพร่หลายนักก็ตาม สำหรับเด็กในชุมชนที่มีโอกาสได้ใช้คอมพิวเตอร์ นอกจากการใช้คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลแล้ว ก็ยังสามารถแสวงหาความรู้จากแหล่งความรู้ที่มีอยู่อย่างมากมาย โดยการเชื่อมต่อกับเครือข่ายผ่านระบบอินเตอร์เน็ตที่มีการเชื่อมโยงกันอยู่ทั่วโลก นอกเหนือไปจากความรู้ที่จะได้เรียนในห้องเรียนที่มีครูผู้สอนเป็นผู้ถ่ายทอดเท่านั้น นอกจากนี้ ผู้สอนและผู้เรียนยังสามารถติดต่อถึงกันได้อย่างไร้ขีดจำกัดของเวลา โดยผ่านระบบบริการอินเทอร์เน็ตได้อีกทางหนึ่งด้วย |
การสื่อสารข้อมูลที่กำลังมีบทบาทมากทั้งด้านการศึกษา การค้า การเมือง การปกครอง ได้แก่ ไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ MSN กระดานสนทนา เป็นต้น ซึ่งคือการส่งข้อความ ภาพ และเสียงถึงกันโดยส่งผ่านเครือข่ายคอมพิวเตอร์ กล่าวคือ ผู้ใช้นั่งอยู่หน้าจอภาพ พิมพ์ข้อความเป็นจดหมาย ข่าวสาร หรือเอกสาร และส่งผ่านเครือข่ายคอมพิวเตอร์ ผู้รับก็สามารถเปิดคอมพิวเตอร์ของผู้รับ เพื่อค้นหาจดหมาย ข่าวสาร และสามารถตอบโต้กลับได้ทันที |
รูปที่ 1.8 จอภาพแสดงการฝากข้อความบนกระดานข่าว |
เทคโนโลยีสารสนเทศที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันเป็นสิ่งที่ต้องเรียนรู้ เป็นเรื่องที่รวมไปถึงการรวบรวม การจัดเก็บข้อมูลการจัดการข้อมูลและประมวลผลข้อมูล ข้อมูลที่จัดเก็บ ต้องมีการตรวจสอบเพื่อความถูกต้อง จัดรูปแบบเพื่อให้อยู่ในรูปแบบที่ประมวลผลได้ เช่น การเก็บนามบัตรของเพื่อนหรือบุคคลที่มีการติดต่อซึ่งมีจำนวนมาก เราอาจหากล่องพลาสติกมาใส่นามบัตร มีการจัดเรียงนามบัตรตามอักษรของชื่อ สร้างดัชนีการเรียกค้นเพื่อให้หยิบค้นได้ง่าย เมื่อไมโครคอมพิวเตอร์เข้ามามีบทบาทมาก ทำให้มีการเปลี่ยนรูปแบบของการจัดเก็บในลักษณะบัตรมาเป็นการจัดเก็บข้อมูลไว้ในแผ่นบันทึก โดยมีระบบการจัดเก็บและประมวลผลลักษณะเดียวกับที่กล่าว เมื่อต้องการเพิ่มเติมปรับปรุงข้อมูล หรือเรียกค้นก็นำแบบบันทึกนั้นมาใส่ในไมโครคอมพิวเตอร์ทำการเรียกค้น แล้วแสดงผลบนจอภาพหรือพิมพ์ออกทางเครื่องพิมพ์ |
รูปที่ 1.9 การใช้โปรแกรมไมโครซอฟต์แอกเซสเก็บข้อมูล |
การจัดการข้อมูลด้วยไมโครคอมพิวเตอร์ทำได้สะดวก ไมโครคอมพิวเตอร์จึงเป็นที่นิยมสำหรับการจัดการข้อมูลในยุคปัจจุบัน ขณะเดียวกันไมโครคอมพิวเตอร์ก็มีราคาลดลงและมีขีดความสามารถเพิ่มขึ้น จึงเชื่อแน่ว่าบทบาทของการจัดการข้อมูลในชีวิตประจำวันจะเพิ่มมากขึ้นต่อไป โครงสร้างและรูปแบบของข้อมูลที่ประมวลผลด้วยคอมพิวเตอร์ เป็นโครงสร้างที่จะต้องมีรูปแบบชัดเจนและแน่นอน การจัดการข้อมูลจึงต้องมีข้อตกลงเฉพาะ เช่น การกำหนดรหัสเพื่อใช้ในการแยกแยะข้อมูล รหัสจึงมีความสำคัญ เพราะคอมพิวเตอร์สามารถแยกแยะข้อมูลด้วยรหัสได้ง่าย ลองนึกดูว่าหากมีข้อมูลจำนวนมากแล้วให้คอมพิวเตอร์ค้นหาโดยค้นหาตั้งแต่หน้าแรกเป็นต้นไป การดำเนินการเช่นนี้ กว่าจะค้นพบอาจไม่ทันต่อความต้องการ การดำเนินการเกี่ยวกับข้อมูลจึงต้องมีการกำหนดเลขรหัส เช่น รหัสประจำตัวประชาชน รหัสเลขทะเบียนคนไข้ รหัสทะเบียนรถยนต์ ทะเบียนใบขับขี่ เป็นต้น การจัดการในลักษณะนี้ จึงต้องมีการสร้างระบบเพื่อความเหมาะสมกับการทำงานของคอมพิวเตอร์เป็นสำคัญ |
รูปที่ 1.10 โครงสร้างและรูปแบบของข้อมูลที่ใช้โปรแกรมไมโครซอฟต์แอกเซส |
ข้อเด่นของการประมวลผลข้อมูลด้วยคอมพิวเตอร์ นอกจากเรื่องความเร็วและความแม่นยำแล้ว ยังเป็นเรื่องของการคัดลอกและแจกจ่ายข้อมูลไปยังผู้ใช้ได้สะดวก ข้อมูลที่เก็บในรูปแบบสัญญาณอิเล็กทรอนิกส์สามารถเปลี่ยนถ่ายระหว่างตัวกลางได้ง่าย เช่น การสำเนาระหว่างแผ่นบันทึกข้อมูลสามารถทำเสร็จได้ในเวลาไม่นาน ด้วยความก้าวหน้าและเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสังคมในยุคของสารสนเทศ การปรับตัวของสังคมจึงต้องเกิดขึ้น ประเทศที่เจริญแล้วประชากรส่วนใหญ่จะอยู่กับเครื่องจักรเครื่องมือต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสารสนเทศมีเครือข่ายการให้บริการใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นหลายอย่าง ขณะที่เราอยู่บ้าน อาจใช้โทรทัศน์ติดต่อเข้าระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต (internet) เพื่อขอเรียกดูราคาสินค้า ขอดูข่าวเกี่ยวกับดินฟ้าอากาศ ข่าวความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการเมือง อัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา นอกจากนี้ยังมีระบบการสั่งซื้อของผ่านทางเครือข่ายคอมพิวเตอร์ แม่บ้านใช้คอมพิวเตอร์ส่วนตัวที่บ้านต่อเชื่อมผ่านเครือข่ายสายโทรศัพท์ไปยังห้างสรรพสินค้า เพื่อเปิดดูรายการสินค้าและราคา แม่บ้านสามารถสั่งซื้อได้เมื่อต้องการ |
รูปที่ 1.11 การใช้สารสนเทศบนเครือข่าย |
เมื่อเราเข้าใจถึงความหมายของทั้งคำว่า "เทคโนโลยีและคำว่าสารสนเทศ" แล้ว เราพอสรุปความหมายโดยรวมได้ว่า "เทคโนโลยีสารสนเทศ" หมายถึง เทคโนโลยีที่เป็นการรวมคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีอื่น ๆ เช่น เทคโนโลยีด้านโทรคมนาคมและ การสื่อสาร เทคโนโลยีเครือข่าย เทคโนโลยีสำหรับการผลิตในโรงงานอุตสาหกรรมมาทำงานร่วมกัน เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนสารสนเทศโดยผ่านทางอิเล็คทรอนิค หรือข้อมูลที่อยู่ในรูปแบบดิจิตอล หรือข้อมูลที่อยู่ในรูปแบบที่คอมพิวเตอร์สามารถนำไปใช้งานได้ บทบาทของเทคโนโลยีสารสนเทศที่กำลังเปลี่ยนแปลงสังคมนี้เอง ผลักดันให้เราต้องศึกษาหาความรู้เพื่อปรับตัวให้เข้ากับสังคมสมัยใหม่ และเพื่อให้มีการพัฒนาสังคมได้อย่างเหมาะสม |
|
ที่มา: http://phonebook.tot.co.th/ http://www.emanuel.org.uk/curriculum/images/ict2.jpg http://www.eyetumour.com/images/large/office.jpg สถาบันส่งเสริมการนสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี. 2542. หนังสือเรียน เทคโนโลยีสารสนเทศและคอมพิวเตอร์ ช 0249. กรุงเทพมหานครฯ. โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว.
|
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น